เนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัมพันธ์กับการเกิดตับอักเสบจากไขมันแทรกตับhttps://visitdrsant.blogspot.com/2018/03/blog-post_21.html
ถาม:ผมอายุ 43 ปี สูง 166 ซม. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ลดน้ำหนักตัวเองจาก 88 กก.ลงมาเหลือ 78 กก.ในเวลา 1 ปี โดยการกินอาหารแบบ no carb(กินเนื้อแยะ กินข้าวน้อยๆหรือไม่กินข้าวเลย ) ร่วมกับออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและเล่นกล้ามตามที่คุณหมอสันต์แนะนำ ไขมันในเลือดของผมก็ลดลงจากเดิม LDL 212 ลดลงเหลือ 138 ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีและผมก็แฮปปี้มาก แต่มาปีนี้ผมเป็นไข้หวัดใหญ่ต้องเข้านอนรพ.สองวัน หมอก็ตรวจเลือดทุกอย่างด้วย พบว่าผมมีตับอักเสบ ค่า SGPT 212, SGOT 168 ตรวจไวรัสตับก็ปกติหมด หลังออกจากรพ.แล้วหนึ่งเดือนไปติดตามการรักษาค่าก็ไม่ลดลง หมอตรวจอุลตร้าซาวด์ด้วย สรุปว่าผมเป็นโรคตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ และแนะนำให้ผมลดอาหารไขมันและแป้ง ผมงงมากว่าตอนผมยังอ้วนอยู่ตรวจสุขภาพประจำปีไม่เห็นว่าจะมีปัญหาตับอักเสบหรือไขมันแทรกแต่อย่างใด แต่พอผมลดน้ำหนักลงได้เป็นเนื้อเป็นหนังแล้วหมอกลับบอกว่าผมมีไขมันแทรกตับ
รบกวนถามคุณหมอว่าผมควรทำยังไงต่อไปดี
หมอสันต์ 21 มีนาคม 2561
งานวิจัยนี้ทำกับผู้ป่วยเกือบ 800 คนที่มารับการส่องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองมะเร็งที่ศูนย์การแพทย์เทลอาวีฟ โดยทุกคนจะได้รับการตรวจชีวเคมีของเลือดและทำอุลตร้าซาวด์ตับและประเมินชนิดของเนื้อที่กินและวิธีการปรุงเนื้อนั้น ด้วย ผลวิจัยพบว่า
(1) ในแง่ของชนิดของเนื้อที่กิน มีความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างการกินเนื้อแดง (หมูวัวแพะแกะ) กับการเป็นโรคตับอักเสบจากไขมันแทรกตับและเบาหวาน
(2) ในแง่ของวิธีปรุงเนื้อ (อบ ต้ม นึ่ง ย่าง ทอด ทำเป็นไส้กรอก เบคอน แฮม) พบว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างการปรุงด้วยวิธีทำเป็นไส้กรอก เบคอน แฮม กับการเป็นโรคตับอักเสบจากไขมันแทรกตับและโรคเบาหวาน
ความสัมพันธ์ทั้งสองข้อนี้คงที่แน่นอนไม่ว่าผู้ป่วยจะ (1) มีไขมันในเลือดสูงหรือไม่สูง (2) กินไขมันอิ่มตัวมากหรือไม่มาก (3) อ้วนหรือไม่อ้วน ก็ตาม
ผมแนะนำว่าคุณเอาความรู้จากงานวิจัยนี้ไปใช้ก่อนสิครับ คือเลิกกินเนื้อแดง (เนื้อหมูเนื้อวัว) และเนื้อที่ผ่านการปรับแต่งถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม)
อีกอย่างหนึ่งจุดนี้ (เมื่อลดน้ำหนักได้สักสิบกก.หรือสักหนึ่งปี) เป็นจุดที่เหมาะที่จะเปลี่ยนอาหารลดน้ำหนักจากอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลัก มาเป็นอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (plant based, low fat diet) หรืออาหารลดความดันเลือด (DASH diet) ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าลดน้ำหนักในระยะยาวได้ดีและปลอดภัยแน่นอนในแง่ของอัตราตายและการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คุณเปลี่ยนอาหารไปสักหกเดือนแล้วค่อยไปตรวจประเมินเอ็นไซม์ของตับซ้ำอีกครั้ง ถ้ามันยังไม่ดีขึ้นคุณค่อยเขียนมาเล่าให้ผมฟังใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น