ผมคงจะไม่สามารถชี้นำว่าคุณควรจะเลือกวิธีใด วิธีหนึ่ง โดยเฉพาะ แต่ผมจะสาธยายกรรมวิธี และข้อดี ข้อเสีย ระหว่าง 2 วิธีนี้ให้คุณทราบ1. การดมยาสลบ หรือ General anesthesiaโดยวิธีนี้ วิสัญญีแพทย์ จะทำให้ผู้ป่วยสลบ ( สลบ มีระดับที่ลึกกว่า"หลับ" อยู่มากโข เพราะว่า"หลับ"สามารถปลุกได้ แต่"สลบ"จะไม่มีการตอบสนองต่อการเรียก และไม่มีการรับรู้ ไม่มีการฝัน เป็นเสมือนหนังที่ฟิล์มขาด แล้วต่อฟิล์มมาดูใหม่ ) โดยการฉีดยานำสลบเข้าไปในหลอดเลือดดำ จากนั้นจะให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นอัมพาต แล้วจะสอดท่อช่วยหายใจ ผ่านปาก เข้าไปผ่านกล่องเสียง และไปอยู่ในหลอดลม เพื่อที่จะช่วยหายใจในระหว่างผ่าตัด เพราะระหว่างผ่าตัดนั้น กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะเป็นอัมพาตจากยาหย่อนกล้ามเนื้อ และร่างกายจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมการหายใจ จากผลของยาสลบการดมยาสลบนั้นจะอาศัยยาหลายๆตัวช่วยเกื้อหนุนกัน ได้แก่ ยานำสลบ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยาดมสลบในรูปของไอระเหย เมื่อสิ้นสุดการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะให้ยาแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ และรอคอยให้ยาดมสลบหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะค่อยๆฟื้นคืนสติ และเริ่มหายใจเอง จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะถอดท่อช่วยหายใจออกมาจากหลอดลมข้อดีของการวางยาสลบ ก็คือ1. ผู้ป่วยไม่ต้องรับรู้ต่อเหตุการณ์ต่างๆในห้องผ่าตัด ( เหมือนหนังฟิล์มขาด ฉันใดฉันนั้น )2. วิสัญญีแพทย์สามารถควบคุมการหายใจ และระบบไหลเวียนได้ จึงเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดในช่องท้อง หรือในช่องอกข้อเสียของการวางยาสลบ จะมีมากและต้องทำใจยอมรับ เนื่องจากการใช้ยาหลายตัว และกรรมวิธีมากมาย จึงต้องมีผลข้างเคียงในลักษณะที่ต้องยอมรับ( จะเรียกว่าเป็นผลข้างเคียงที่ไม่อาจจะปฏิเสธหรือเลี่ยงได้ก็คงไม่ผิดนัก) และไม่ถือว่าเป็นอันตราย เนื่องจากจะหายได้เองในเวลาอันสั้น ได้แก่1. อาการเจ็บคอ ระคายคอ หรือ เสียงแหบ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการสอดใส่ท่อช่วยหายใจผ่านเข้าไปในหลอดลม อาการนี้อาจจะพบในบางราย แต่จะไม่นานเกินกว่า 24-48ชม. ก็จะหายไปได้เอง2. อาการคลื่นไส้ อาเจียน อันเป็นผลโดยตรงจากยาแก้ปวด และยาดมสลบ ซึ่งมักจะมีผลข้างเคียงในเรื่องของการคลื่นไส้อาเจียนอยู่ไม่มากก็น้อย3. มีความต้องการยาแก้ปวดในช่วงหลังการผ่าตัดสูงกว่าการใช้วิธีฉีดยาชาบล๊อคไขสันหลัง4. อาจจะมีอาการวิงเวียน มึนงง ในช่วงพักฟื้นหลังการผ่าตัด ซึ่งเกิดจากผลข้างเคียงของยาสลบ5. มีความเสี่ยงในเรื่องของการสำลักเศษอาหารที่ขย้อนออกมาจากกระเพาะอาหารในระหว่างที่กำลังจะเริ่มดมยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าผู้ป่วยงดน้ำงดอาหารมานานพอหรือไม่ ในทางปฏิบัติจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชม. ก่อนได้รับการวางยาสลบ